แนะนำ โรงแรมที่พัก ไทเป ไต้หวัน อัพเดตล่าสุด

อุทยานประวัติศาสตร์ อยุธยา Ayutthaya Historical Park

ที่เที่ยวแนะนำ
ที่เที่ยวแนะนำ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดโลกจาก UNESCO

อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบไปด้วยวัดโบราณที่ยังคงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่กว่า 10 วัด เช่น วิหารมงคลบพิตร วัดพนัญเชิง ซากโบราณสถานกว่า 365 แห่ง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนาราม

            พระนครศรีอยุธยาเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. 1893 และล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2310 เนื่องจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟู โบราณสถานในอยุธยาขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ ขุดและปรับแต่งโบราณสถานในอยุธยา

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 กรมศิลปากรได้ประกาศให้โบราณสถาน 69 แห่งในเกาะเมืองอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ จากนั้นในปี พ.ศ. 2519 มีการจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยาขึ้น เพื่อกรมศิลปากรจะได้เข้าไปขุดค้นและบูรณะโบราณสถานเหล่านั้น รวมพื้นที่ขณะนั้น 1,810 ไร่ ประกอบไปด้วย พระราชวังโบราณวัด, พระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดพระราม และวิหารมงคลบพิตร

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร

ในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศเพิ่มเนื้อที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานต่างๆ อาทิ พระราชวังจันทรเกษม กำแพงป้อมปราการกรุงเก่า วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม วัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราชวรวิหาร หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น เพนียดคล้องช้าง โบสถ์นักบุญยอเซฟ วัดพุทไธศวรรย์ วัดหน้าพระเมรุ

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแม้มีพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ แต่เป็นมรดกโลกเพียง 1,810 ไร่เท่านั้น เพราะพื้นที่ที่ประกาศเพิ่มเติมมาในปี พ.ศ. 2540 ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่ประการใด

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดแห่งเดียวในอยุธยาที่อยู่ในพระราชวังโบราณ อีกทั้งยังเป็นวัดเดียวในอยุธยาที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และวัดพระศรีสรรเพชญ์นี่แหละที่เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

วัดราชบูรณะ ในปี พ.ศ. 1967 เจ้าสามพระยาซึ่งขณะนั้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สร้างวัดราชบูรณะขึ้นในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์เนื่องจากการช่วงชิงราชบัลลังก์ กรมศิลปากรขุดพบเครื่องทองจำนวนมากใต้กรุภายในพระปรางค์ประธาน ปัจจุบันเครื่องทองถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา

วิหารมงคลบพิตร วัดอารามหลวงในกำแพงเมือง ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระประธานของวิหารคือพระมงคลบพิตร สันนิษฐานว่าพระมงคลบพิตรถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระไชยราชา ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีการบูรณะพระมงคลบพิตรครั้งใหญ่ และพบพระโบราณจำนวนมากอยู่ที่พระอุระด้านขวาของพระมงคลบพิตร ปัจจุบันพระพุทธรูปเหล่านั้น ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จันทรเกษม และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

วัดหน้าพระเมรุ วัดหน้าพระเมรุมีชื่อทางการว่า ‘วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร’ เป็นวัดสำคัญหนึ่งเดียวในอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลายเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แสดงว่าเป็นวัดพระอารามหลวง ผังวัดเปรียบโบสถ์เป็นเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อแบบอินเดียโบราณผสมกับแนวความเชื่อไทยพุทธช่วยกลางอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

 


ค่าใช้จ่าย

ค่าเข้าชม: ขึ้นอยู่กับสถานที่ มีตั้งแต่ 20-50 บาท หรืออาจซื้อบัตรรวม คนไทย 40 บาท ต่างชาติ 220 บาท สามารถเข้าชมวัดต่างๆ ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังโบราณ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดไชยวัฒนาราม และวัดมเหยงค์

เวลาทำการ

เวลาเปิด-ปิด: ขึ้นอยู่กับสถานที่ มีตั้งแต่ 08.00 – 18.00 น. บางแห่งมีการฉายไฟและเก็บค่าเข้าชมตั้งแต่ 18.30-21.00 น.
วันปิดทำการ: เปิดทุกวัน

วิธีการเดินทาง

            จากเทศบาลเมืองอยุธยามุ่งหน้าขึ้นเหนือโค้งขวาไปตามทาง เลี้ยวขวาเข้าซอยต้นโพธิ์ เลี้ยวขวาเขาถนนเทศบาลเมืองอโยธยา ที่วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มใช้ทางออกที่ 3 เข้าถนนอยุธยา-อ่างทอง ข้ามแม่น้ำป่าสัก ตรงมาตามถนนเส้น 309 จะพบวงเวียน ให้เลือกดังนี้

เลี้ยวขวาไปวัดมหาธาตุ ปราสาทสังข์ วัดสังข์ปัต
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนป่าโทน จากนั้นเลือกทางใดทางหนึ่ง ดังนี้
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคลองท่อ เข้าใจกลางเกาะเมือง เช่าจักรยานปั่นชมอุทยาน
เลี้ยวขวาไปตามถนน 309 ไปวัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารมงคลบพิตร วัดพระราม
ท่านที่ไม่มีรถสามารถว่าจ้างรถตุ๊กตุ๊กๆ เที่ยวภายในอุทยานฯ ได้ด้วยค่าจ้างประมาณ 200 บาทต่อชั่วโมง หรือเช่าจักรยานในราคาไม่เกินวันละ 100 บาท

แผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ อยุธยา Ayutthaya Historical Park และสถานที่อื่นๆใน อยุธยา

GPS: 14.351137, 100.556862
- สถานที่ปัจจุบัน - สถานที่แนะนำ - สถานที่อื่นๆ

ที่เที่ยวแนะนำ - ที่เที่ยวแนะนำ จุดชมซากุระ - จุดชมซากุระ จุดชมใบไม้เปลี่ยนสี - จุดชมใบไม้เปลี่ยนสี เป็นมรกดโลก - เป็นมรกดโลก