แนะนำ โรงแรมที่พัก ไทเป ไต้หวัน อัพเดตล่าสุด

วัดพระนอน 600 ปี


วัดพระนอน 600 ปี วัดร้างที่เหลือเพียงฐานรากของกำแพงวัด และเสาวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์ พระนอนอายุ 600 ปีที่กรมศิลปากรร่วมแรงร่วมใจกับพระสงฆ์และประชาชนบูรณะองค์พระขึ้นมาใหม่

ประมาณปี พ.ศ. 2555 มีชาวบ้านคนหนึ่งแจ้งกับนักข่าวว่ามีพระนอนโบราณอยู่กลางโคกพระนอน ซึ่งตนเองมักจะไปหลบแดดเวลาออกหาปลาเสมอ บางครั้งตนก็จะถางหญ้าเพื่อไม่ให้ขึ้นคลุมองค์พระ ที่ตนออกมาพูดกับสื่อครั้งนี้เพราะพระนอนมีลักษณะงดงามมาก องค์ใหญ่กว่าพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมลคล อยากให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป

ในเวลานั้นพระนอนเหลือเพียงพระพักตร์เสี้ยวเดียว แต่ยังพอมองเห็นว่างดงามมาก พระพาหา (แขน) ทั้งสองพังทลาย เหลือแต่ต้นพระพาหุซ้าย (ต้นแขนซ้าย) บั้นพระองค์ขาด พระบาทพังลงทั้งหมด ที่สำคัญคือกลางพระอุระซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปสำคัญขนาดเล็ก เกิดเป็นช่องกลวงโบ๋ แสดงว่ามีผู้นำออกไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ชาวบ้านที่มักไปถางหญ้ารอบองค์พระเป็นประจำยังระบุว่า ดวงพระเนตรหายไป เป็นไปได้ว่าดวงพระเนตรแต่เดิมอาจเป็นพลอยหรือนิลจึงถูกควักเอาไป

จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าวัดพระนอนแห่งนี้มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ประมาณปี พ.ศ. 1900-2000 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเนรศวรมหาราชและรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ จากการขุดค้น พบวิหาร เจดีย์ราย กลุ่มอาคาร และกลุ่มหลุมฝังศพ

ส่วนพระนอน มีหลักฐานว่าประดิษฐานอยู่ในวิหาร ทว่าวิหารเกิดหักพังลงไป องค์พระมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นพระปูนปั้น ศิลปะอู่ทองรุ่นที่ 3 อายุประมาณ 600 ปี พุทธลักษณะคล้ายพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทรประมูล จ. อ่างทอง

นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการขุดค้นวัด ต่อมาในวันที่ 15 พ.ย. 2558 มีพิธีเบิกเนตรพระนอน 600 ปีขึ้น โดยมี พล.อ.นภดล ฟักอังกูร ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และมีพระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ขณะนั้นมีการเฉลิมพระนามพระนอน 600 ปี ว่า ‘พระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์’

หลังพิธีเบิกเนตรพระเทพประสิทธิมนต์ ร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาในการบูรณะตลอดมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 กระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560 เป็นพระนอนปางโปรดอสุรินทราหู ประดิษฐานอยู่ในศาลา และในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ทางจังหวัด ร่วมกับพระเทพประสิทธิมนต์ และประชาชน จัดงานสมโภชพระนอน 600 ปีขึ้น โดยมี ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประธาน

            สิ่งที่น่าสนใจในวัด

  1. พระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์

พระนอน 600 ปี ได้รับการเฉลิมพระนามใหม่ว่า ‘พระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์’ หลังจากบูรณะใหม่แล้วเป็นปางโปรดอสุรินทราหูแบบอยุธยา เนื่องจากปางโปรดอสุรินทราหูโดยปกติแล้วจะต้องมีพระเขนย (หมอน) รองใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ทว่าเฉพาะในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในภาพวาดฝาผนังวัดโบราณ ปางโปรดอสุรินทราหูจะมีเพียงหมอนสามเหลี่ยมรองพระเศียร ไม่รองใต้พระกัจฉะ ข้อแตกต่างระหว่างปางโปรดอสุรินทราหูกับปางพักผ่อนอิริยาบถจึงมีข้อเดียวคือปางโปรดอสุรินทราหูแบบอยุธยา พระพาหาจะตั้งขึ้น พระกับประ (ศอก) ชันพื้น ในขณะที่ปางพักผ่อนอิริยาบถจะทอดพระพาหากับพื้น

  1. รากฐานเดิมของวิหาร

หลังจากกราบพระนอนเสร็จแล้ว หากมองที่ฐานของเสาใหม่ จะเห็นฐานของเสาวิหารเดิมอยู่ใกล้ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าวิหารใหม่สร้างครอบแนววิหารเดิม และยังคงรักษาฐานเสาเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นเสาขนาดใหญ่ตามแบบอยุธยาตอนปลาย และยังมีผนังเดิมบริเวณปลายพระบาทขององค์พระหลงเหลืออยู่

  1. ซากปรักหักพังอื่นๆ

หลังจากการขุดแต่ง ฐานกำแพงวัดที่แต่เดิมอยู่ใต้ดิน ขณะนี้ปรากฏสู่สายตานักท่องเที่ยวแล้ว กำแพงนี้ทำให้อนุชนได้ทราบว่าวัดแห่งนี้ ไม่ใช่วัดเดียวกับวัดชุมพลร้างและวัดกระโดกร้างที่อยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ยังมีรากฐานของเจดีย์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

            วิธีการเดินทาง

            


ค่าใช้จ่าย

ค่าเข้าชม: ฟรี

เวลาทำการ

เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน ตลอดเวลา

วิธีการเดินทาง

จากเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยา ใช้ถนนเทศบาลเมืองอโยธยาไปเจดีย์วัดสามปลื้ม ใช้ทางออกที่ 2 สู่ถนน 3477 เลี้ยวซ้ายเข้าซอยตรงข้ามกับเทสโก้โลตัส วัดอยู่ทางซ้ายมือ  ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที

แผนที่วัดพระนอน 600 ปี และสถานที่อื่นๆใน อยุธยา

GPS: 14.340530, 100.588863
- สถานที่ปัจจุบัน - สถานที่แนะนำ - สถานที่อื่นๆ

ที่เที่ยวแนะนำ - ที่เที่ยวแนะนำ จุดชมซากุระ - จุดชมซากุระ จุดชมใบไม้เปลี่ยนสี - จุดชมใบไม้เปลี่ยนสี เป็นมรกดโลก - เป็นมรกดโลก